บทที่ 11 เงินเฟ้อและเงินฝืด


เงินเฟ้อและเงินฝืด

ความหมายของเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อ : ภาวะที่ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นเรื่อยๆ และไม่จำเป็นว่าราคาสินค้าทุกชนิดต้องสูงขึ้นในเวลาที่เกิดเงินเฟ้อ อาจมีสินค้าบางชนิดราคาราคาลดลงได้และบางชนิดราคาสูงขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อพิจารณาราคทั้งหมดแล้วโดยเฉลี่ยมีราคาสูงขึ้น
เราดูเงินเฟ้อได้จากดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer price index: CPI
ดัชนีราคา : ตัวเลขที่แสดงระดับราคาของปีได้ปีหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับระดับราคาของปีฐาน โดยให้ระดับราคาของปีฐานเทียบเท่ากับ 100
•อัตราเพิ่มของดัชนีราคาผู้บริโภคที่คำนวณออกมาในรูปร้อยละ แสดถึง อัตราเงินเฟ้อ (Inflation rate)
Inflation rate t = (CPIt – CPIt-1/ CPIt-1 )*100
Inflation rate 2007 = (CPI2007 – CPI2006/ CPI2006 )*100

สาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อ
ประการที่ 1 เงินเฟ้อเกิดจาก ต้นทุนสินค้า หรือ เงินเฟ้อด้านอุปทาน(Cost –Push Inflation) เป็นเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตจะต้องเสนอขายสินค้าในราคาที่สูงขึ้น กรณีดังกล่าว ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจาก
- ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น
- ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และวัตถุดิบต่าง ๆ สูงขึ้น
- การเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรของผู้ผลิต ตัวนี้จะไม่ค่อยเห็นมากนัก แต่จะมีในบางธุรกิจ ที่เป็นธุรกิจผูกขาด ซึ่งมีการกำหนดไว้ว่าต้องได้ผลกำไรเท่าไหร่ต่อปี

เงินเฟ้อ ด้านอุปสงค์ (Demand-Pull Inflation) 
     เงินเฟ้อส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น จะเป็นเงินเฟ้อทางด้านอุปสงค์มากกว่า เงินเฟ้อด้านอุปสงค์ หมายถึง ความต้องการใช้จ่ายซึ่งเกิดจากอุปสงคืรวมเพิ่มขึ้น (AD) ในขณะที่อุปทานรวมของสินค้าและบริการไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ หรือก็คือ อุปสงค์ของประเทศมีความต้องการใช้จ่ายมากกว่าผลผลิตที่มีอยู่ (AD > DS) ซึ่งส่งผลทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น

อุปสงค์รวม (AD) จะเพิ่มขึ้นเนื่องจาก
1. ส่วนประกอบของ AD เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากทางภาคเศรษฐกิจ คือ C.I.G. และ (X-M) เพิ่มขึ้น ในขณะที่ AS คงที่ ซึ่งจะทำให้ ราคาสูงขึ้น มากกว่า CPI จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ เช่น หากรัฐบาลไม่ดูว่า เศรษฐกิจของประเทศ ณ ขณะนั้นเครื่องกำลังร้อน แล้วไปกระตุ้นการลงทุนเพิ่ม ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อขึ้นได้
2. ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น (M : Money Supply) อันเป็นผลมาจากทางภาคการเงิน เนื่องจากการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์แลสถาบันการเงิน เช่น การใช้บัตรเครดิต,Soft Loan,Car for Cash,Quick Cash เป็นต้น เมื่อมีการปล่อยเงินหรือสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากเกินไป ในขณะที่ AS คงที่ ซึ่งจะมีผลทำให้ ราคาสินค้าสูงขึ้น CPI สูงขึ้น ทำให้เกิดเงินเฟ้อ โดยการเพิ่มของปริมาณเงินที่มีมากเกินไป ไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากการพิมพ์เงินเพิ่มแต่ละครั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องมีทุนสำรองเงินตรา (Currency reserves) รองรับ ในอดีตหากจะพิมพ์เงินขึ้นมา 100 บาท ก็จะต้องมีทองคำหรือเงินตราต่างประเทศที่เป็นสกุลหลักรองรับอยู่ที่ 100 บาท เท่ากัน แต่ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 30 ซึ่งถ้าเราไม่มีทุนสำรองรองรับ เงินที่พิมพ์ออกมานั้นก็คือกระดาษและถ้าผู้คนแห่เอากระดาษไปซื้อสินค้าก็จะเกิดปัญหาเงินเฟ้อขึ้นในระบบเศรษฐกิจทันที

ผลกระทบของเงินเฟ้อ 
1. ผลที่มีต่อความต้องการถือเงิน เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อจะทำให้อำนาจซื้อของเงินที่อยู่ในมือของประชาชนลดลง ทั้งนี้ เพราะเงินจำนวนเดิมสามารถใช้จับจ่ายซื้อของได้ในปริมาณที่น้อยลง และเนื่องจากแต่ละบุคคลจะพยายามรักษาระดับการบริโภคของตนให้อยู่ในระดับเดิม ทำให้ประชาชน มีความต้องการถือเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้พอเพียงกับระดับการใช้จ่ายหรือการบริโภคของแต่ละบุคคล ซึ่งความต้องการดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับขนาดของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น 
2. มาตรฐานการครองชีพของประชาชน ผลกระทบโดยตรงที่เกิดจากเงินเฟ้อก็คือทำให้มาตรฐานการครองชีพความอยู่ดีกินดีของประชาชนลดลง ในยุคที่ข้าวยากหมากแพงประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากแต่ละบุคคลจะมีความรู้สึกว่าตนเองจนลง คือมีรายได้ที่แท้จริงลดลง แม้ว่ารายได้ที่เป็นตัวเงินจะเท่าเดิมก็ตาม 
3. ผลที่มีต่อเจ้าหนี้และลูกหนี้ เมื่อเกิดเงินเฟ้อ เจ้าหนี้จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เนื่องจากเงินที่ได้รับชำระหนี้ในปัจจุบันหรืออนาคตจะมีอำนาจซื้อลดลง เมื่อเทียบกับในขณะที่ให้กู้ยืมไป ตรงกันข้าม ลูกหนี้จะเป็นฝ่ายได้เปรียบเนื่องจากเงินที่ได้รับไปขณะกู้ยืมมีอำนาจซื้อสูงกว่า โดยเปรียบเทียบ กับเงินที่จะใช้ชำระหนี้ในอนาคต 
4. ผลที่มีต่อระดับการผลิตและการลงทุนของประเทศ ขึ้นอยู่กับว่าภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับมากน้อยเพียงใด กล่าวคือ ถ้าเป็นเงินเฟ้ออย่างอ่อนจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม นั่นคือ เงินเฟ้อจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตลงทุนเพื่อการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ผลผลิตรวมของประเทศสูงขึ้น แต่ถ้าเงินเฟ้อที่ค่อนข้างรุนแรงหรือรุนแรงมากแล้ว นอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม แล้ว ยังก่อให้เกิดผลเสียอีกด้วย กล่าวคือ เมื่อราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นมากกว่ากำลังซื้อของประชาชน ที่มีอยู่ จะทำให้ผลผลิตที่ผลิตขึ้นมาแล้วไม่สามารถขายได้ เนื่องจากประชาชนไม่มีกำลังซื้อเพียงพอ ในที่สุดจะส่งผลให้ผู้ผลิตลดการลงทุน ทำให้ผลผลิตรวมของประเทศลดลง ประชาชนมีรายได้น้อยลง 
5. ผลที่มีต่อดุลการค้า ดุลการชำระเงิน เมื่อเกิดเงินเฟ้อ ราคาสินค้าในประเทศมีแนวโน้ม สูงขึ้นเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ ทำให้สินค้าที่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศมีราคาแพงขึ้น เป็นผลให้ขายสินค้าให้ต่างประเทศได้น้อยลง ตรงกันข้าม จะมีการสั่งซื้อสินค้าเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อฐานะดุลการค้า ดุลการชำระเงินของประเทศ ทำให้มีสภาพเลวลง 

แนวทางแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ
เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นจะทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเดือดร้อน ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงกำหนดแนวทางแก้ไข ดังนี้

1. ใช้นโยบายทางการเงิน โดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพื่อลดปริมาณเงินในมือประชาชนให้น้อยลง ทำให้ปริมาณความต้องการในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคลดลงนอกจากนี้ยังเพิ่มการขายพันธบัตรรัฐบาลให้ธนาคารพาณิชย์และประชาชนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ลดการรับชื้อพันธบัตรรัฐบาลคืนจากประชาชนและลดการขยายเครดิตหรือปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์

2. ใช้นโยบายการคลัง โดยเพิ่มการเก็บภาษีจากประชาชน ใช้งบประมาณแบบเกินดุล คือ ลดรายจ่ายภาครัฐให้น้อยลง แต่เพิ่มรายได้ของรัฐบาลโดยการเก็บภาษีให้มากขึ้น เพื่อลดปริมาณเงินในมือประชาชนให้น้อยลง
ภาวะเงินฝืด (Deflation)
      เงินฝืด หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการในตลาดลดลง ค่าของเงินเพิ่มขึ้น ปริมาณเงินอยู่ในมือประชาชนน้อยเกินไป

ประเภทเงินฝืด แบ่งเป็น
1.เงินฝืดอย่างอ่อน เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ราคาสินค้าในตลาดทั่วไปจะลดลงเล็กน้อย
2.เงินฝืดอย่างปานกลาง มีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจแต่ไม่รุนแรง ระดับราคาสินค้าทั่วไปในตลาดจะลดลงมากกว่าเงินฝืดอย่างอ่อน
3.เงินฝืดอย่างรุนแรง

สาเหตุของเงินฝืด เงินฝืดเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
1. เกิดจากปริมาณความต้องการในการซื้อสินค้าหรือบริการมีน้อยกว่าปริมาณความต้องการในการขายสินค้าหรือบริการ ทำให้สินค้าเหลือเกินความต้องการ ราคาสินค้าลดลง
2. เกิดจากรัฐบาลเก็บภาษีมากเกินไป ทำให้ปริมาณเงินที่ประชาชนจะซื้อสินค้ามีน้อยลง
3. ประชาชนเก็บเงินไว้กับตัวมากเกินไป ทำให้การบริโภคมวลรวมลดลง
4. มีการส่งเงินตราออกไปต่างประเทศมากเกินไป ทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมีน้อย

ผลกระทบของเงินฝืด
  เงินฝืดทำให้ผู้ผลิตขาดทุน การค้าซบเซา การผลิตเลิกกิจการ ลูกจ้างแรงงานตกงาน เกิดปัญหาว่างงาน เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีจากผู้มีรายได้และผู้ผลิตได้ตามเป้าหมาย ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องแบกภาระในการแก้ปัญหาคนว่างงานและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อย่างไรก็ดี ภาวะเงินฝืดจะเป็นผลดีและผลเสียต่อบุคคลในกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้
1. ผลดีต่อผู้มีรายได้ประจำ เพราะซื้อสินค้าหรือบริการได้ในราคาลดลง ส่วนเจ้าหนี้และผู้มีเงินออมจะได้เปรียบ เนื่องจากราคาสินค้าลดลง ค่าของเงินเพิ่มขึ้น ทำให้อำนาจซื้อเพิ่มขึ้น
2. ผลเสียต่อผู้ผลิต จะได้รับผลกระทบ เพราะราคาสินค้าลดลง อาจต้องประสบปัญหาขาดทุน นอกจากนี้ ลูกหนี้ และนายธนาคาร จะเกิดความเสียเปรียบในด้านค่าของเงิน

แนวทางแก้ไขภาวะเงินฝืด
เมื่อเกิดภาวะเงินฝืด การผลิตลดลง เกิดปัญหาว่างงาน เศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงกำหนดแนวทางแก้ไข ดังนี้
1. ใช้นโยบายทางการเงิน โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในมือประชาชนให้มากขึ้น ทำให้ปริมาณความต้องการในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นนอกจากนี้ยังลดการขายพันธบัตรรัฐบาลให้ธนาคารพาณิชย์และประชาชน แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มการรับชื้อพันธบัตรรัฐบาลคืนจากประชาชนให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนให้สูงขึ้น ตลอดจนเพิ่มการขยายเครดิตหรือปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ไปยังกลุ่มผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิต เพื่อช่วยให้การผลิตดำรงอยู่ได้
2. ใช้นโยบายการคลัง โดยรัฐบาลใช้งบประมาณแบบขาดดุล คือ เพิ่มรายจ่ายภาครัฐให้มากขึ้น และลดรายได้ภาครัฐให้น้อยลง เพื่อทำให้ปริมาณเงินในมือประชาชนเพิ่มขึ้น