บทที่ 6 อุปสงค์


ความหมายของอุปสงค์

 อุปสงค์ (Demand)
        หมายถึง ปริมาณสินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีผู้ต้องการซื้อ ณ ระดับราคาต่างๆ ของสินค้าชนิดนั้นภายในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยสมมุติให้ปัจจัยอื่นๆ ที่กำหนดอุปสงค์คงที่ ความต้องการในที่นี้ต้องมีอำนาจซื้อ (purchasing power หรือ ability to pay) ด้วย ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีแต่ความต้องการในตัวสินค้าโดยไม่มีเงินที่จะจ่ายซื้อ เราเรียกความต้องการลักษณะนั้นว่า “ความต้องการ (want)” ไม่ใช่ “อุปสงค์ (want)”ดังนั้น องค์ประกอบของอุปสงค์ จะประกอบด้วย ความต้องการและอำนาจซื้อ

กฏของอุปสงค์ (Law of Demand)
         อธิบายถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าเมื่อราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงไป กฎของอุปสงค์กล่าวว่า "ปริมาณสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการซื้อในขณะใดขณะหนึ่งจะมีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามกับราคาสินค้าชนิดนั้น" โดยมีข้อสมมติให้ปัจจัยอื่นๆคงที่ แสดงว่า


    

เมื่อกำหนดให้สิ่งอื่นๆ คงที่ผลดังกล่าวเราเรียกว่า ผลของราคา (price effect) เป็นผลมาจากสาเหตุ 2 ประการ คือ

1. เมื่อราคาสินค้าชนิดนั้นลดลง ผู้บริโภคจะรู้สึกว่าสินค้าชนิดนั้นมีราคาถูกเมื่อเทียบกับราคาของสินค้าชนิดอื่นๆ จึงลดการบริโภคสินค้าชนิดอื่นลง แล้วหันมาบริโภคสินค้าชนิดนั้นเพิ่มขึ้นแทนการบริโภคสินค้าชนิดอื่นที่ลดลง ในตรงกันข้าม ถ้าราคาสินค้าชนิดนั้นสูงขึ้น ผู้บริโภคจะรู้สึกว่าสินค้าชนิดนั้นมีราคาแพงเมื่อเทียบกับราคาของสินค้าชนิดอื่นๆ จึงลดการ บริโภคสินค้าชนิดนั้นลง แล้วหันมาบริโภคสินค้าชนิดอื่นๆเแทน เราเรียกผลของการเปลี่ยนแปลงปริมาณการบริโภคอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในราคาเปรียบเทียบ (Relative price) ของสินค้าว่า ผลของการใช้แทนกัน (Substitution effect)

2. เมื่อราคาสินค้าชนิดนั้นลดลง ผู้บริโภคจะรู้สึกว่าเหมือนกับว่าเขามีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะรายได้จำนวนเดิมจะมีอำนาจซื้อมากขึ้น ดังนั้น เขาจึงซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าราคาสินค้าชนิดนั้นสูงขึ้น ผู้บริโภคจะรู้สึกว่าเหมือนกับว่าเขามีรายได้น้อยลง ดังนั้น เขาจึงซื้อสินค้าลดลง เราเรียกผลของการเปลี่ยนแปลงปริมาณการบริโภคอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในอำนาจซื้อของเงินรายได้ว่า ผลของรายได้ (Income effect)
สรุป : ผลราคา = ผลของการใช้แทนกัน + ผลของรายได้

ประเภทของอุปสงค์
    เราสามารถแบ่งประเภทของอุปสงค์ ออกเป็น3 ประเภท
1. อุปสงค์ต่อราคา (Price Demand )
2. อุปสงค์ต่อรายได้ (Income Demand)
3. อุปสงค์ต่อราคาสินค้าชนิดอื่น (Cross Demand)
     » อุปสงค์ต่อราคา (Price Demand : Dp) คือ ปริมาณซื้อสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆ ของสินค้า ในขณะใดขณะหนึ่ง โดยกำหนดให้ปัจจัยชนิดอื่นๆ คงที่ สามารถเขียนในรูปของฟังก์ชัน (Fucntiion Demand)คือ
Qdx = f(Px) ซึ่งสามารถแสดงความสัมพันธ์ได้ดังนี้

ถ้า Px เพิ่มขึ้น จะทำให้ Qdx ลดลง

ในทางตรงข้าม ถ้า Px ลดลง จะทำให้ Qdx เพิ่มขึ้น

สมการอุปสงค์ต่อราคา คือ Qdx = a - bPx

จากสมการสามารถอธิบายตัวแปรในสมการได้ว่า
Qx หมายถึง ปริมาณเสนอซื้อสินค้า x ซึ่งเป็นตัวแปรตาม (Demand variable)
Px หมายถึง ราคาสินค้า x ซึ่งเป็นตัวแปรอิสระ (independent variable) จะเป็นตัวกำหนดตัวแปรตามให้เปลี่ยนแปลงไปทางเดียวกัน หรือตรงกันข้าม
ค่า a คือ จุดตัดแกน Q (ปริมาณ) แสดงว่าปริมาณสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการเมื่อราคาสินค้านั้นเป็นศูนย์
ค่า b คือ ค่าความชันของเส้นอุปสงค์ ซึ่งมีค่าเป็นลบ แสดงถึงปริมาณซื้อสินค้าและบริการ จะเปลี่ยนแปลงไปในทางตรงกันข้ามกับระดับราคาสินค้า กล่าวคือ ถ้าระดับราคาสินค้าสูงขึ้น จะทำให้ปริมาณซื้อสินค้าลดลง แต่ถ้าระดับราคาสินค้าลดลง ส่งผลให้ปริมาณซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น

» อุปสงค์ต่อรายได้ ( Income Demand : Dy) คือ ปริมาณซื้อสินค้าชนิดหนึ่ง ณ ระดับรายได้ต่างๆของผู้บริโภค โดยกำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่ การเปลี่ยนแปลงของรายได้ จะทำให้ปริมาณซื้อสินค้าและบริการเปลี่ยนแปลง สามารถเขียนในรูปฟังก์ชันได้ดังนี้
        ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ของผู้บริโภค กับปริมาณเสนอสินค้าจะเป็นเช่นใดขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า ที่ผู้บริโภคซื้อ
สมการ อุปสงค์ต่อรายได้
» อุปสงค์ต่อราคาสินค้าชนิดอื่น ( Cross demand : Dc) หมายถึงปริมาณซื้อสินค้าชนิดหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆของสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน โดยกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆคงที่
ฟังก์ชัน Qdb = f(Pa)
ความสัมพันธ์จะเป็นเช่นใด ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า 2 ชนิดว่า มีความสัมพันธ์กันอย่างไร
1. สินค้าที่ใช้ประกอบกัน ( Complementary goods ) ความสัมพันธ์
° ถ้า Pa เพิ่มขึ้น ในขณะที่ Pb คงที่ จะส่งผลให้ Qdb ลดลง
° ถ้า Pa ลดลง ในขณะที่ Pb คงที่ จะส่งผลให้ Qdb เพิ่มขึ้น
เขียนเป็นสมการอุปสงค์ คือ Qdb = a - bPa

เส้นแองเจิ้ล (Engel Curve) เป็นเส้นอุปสงค์ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการซื้อ กับรายได้ของผู้บริโภค ที่ไม่เป็นไปตามอุปสงค์ต่อรายได้ (Income Demand) และตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติกับนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน ชื่อ Chriatain Lorens Ernst Engel ผู้ซึ่งทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ สามารถสรุปความสัมพันธ์ได้ดังรูป




รูปที่ 2.5 เส้น Engel Curve 


จากรูปที่ 2.5 เป็นเส้นกราฟที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ของผู้บริโภคกับปริมาณซื้อสินค้า ที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ของ อุปสงค์ต่อรายได้ (Income Demand) แบ่งออกเป็น 4 ระยะดังนี้
ระยะที่ 1 ระดับรายได้ของผู้บริโภค อยู่ที่ช่วง 0I0 เป็นรายได้ที่ต่ำมาก ผู้บริโภคไม่สามารถซื้อสินค้าชนิดนี้ได้ และเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ
ระยะที่ 2 ระดับรายได้ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น อยู่ในช่วง I0I1 ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น
ระยะที่ 3 ระดับรายได้ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น อยู่ในช่วง I1I2 ผู้บริโภคจะไม่ซื้อสินค้าชนิดนี้เพิ่มขึ้นเลย เพราะผู้บริโภคทำการบริโภคสินค้าชนิดนี้เพียงพอกับความต้องการแล้ว
ระยะที่ 4 ระดับรายได้ของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นมาก ตั้งแต่ I2 เป็นต้นไป ผู้บริโภคซื้อสินค้าชนิดนี้ลดลง เพราะต้องการสินค้าที่มีคุณภาพดีกว่ามาบริโภคแทนสินค้าชนิดเดิม ส่งผลให้เส้น Engel Curve ในช่วงนี้มีค่าความชัน (Slope) เป็นลบ

ตารางอุปสงค์และเส้นอุปสงค์

ตารางอุปสงค์
บัญชีหรือตารางปริมาณสินค้าในระดับต่างๆ ที่ผู้บริโภคต้องการและสามารถซื้อได้ ณ ระดับราคาต่างๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยปัจจัยอื่นๆ คงที่


ตารางที่ 1.1
อุปสงค์ของ นาย ก. ที่มีต่อเนื้อหมูใน 1 สัปดาห์

ลักษณะของเส้นอุปสงค์

เส้นอุปสงค์ (Demand Curve) จะมีลักษณะเป็นเส้นตรงลาดลงจากซ้ายมาขวา ความชัน (slope) ของเส้นเป็นลบ เนื่องจากราคาและปริมาณความต้องการซื้อมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม

รูปที่ 1.1
เส้นอุปสงค์ของ นาย ก. ที่มีต่อเนื้อหมูใน 1 สัปดาห์

อุปสงค์ส่วนบุคคล (Individual Demand) และอุปสงค์ตลาด (Market Demand)
ในการพิจารณาอุปสงค์ ถ้าพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้ากับปริมาณสินค้าที่ผู้บริโภคคนใดคนหนึ่ง ต้องการเรียกอุปสงค์นั้นว่า “อุปสงค์ส่วนบุคคล (Individual Demand)” แต่ถ้าพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้ากับปริมาณสินค้าที่ผู้บริโภคทั้งหมดในสังคมหนึ่งๆ ต้องการซื้อ เรียกอุปสงค์นั้นว่า “อุปสงค์ของตลาด (Market Demand)”




เมื่อพิจารณาความต้องการซื้อส้มของนาย ก. และนาย ข. ณ ระดับราคาส้มกิโลกรัมละ 70 บาท นาย ก. ซื้อส้ม 1 กิโลกรัม ส่วนนาย ข. ซื้อส้ม 2 กิโลกรัม ดังนั้น อุปสงค์ส่วนบุคคลของนาย ก. คือ 1 กิโลกรัม อุปสงค์ส่วนบุคคลของนาย ข. คือ 0 กิโลกรัม ส่วนอุปสงค์ของตลาดคือ 1 + 0 = 1 กิโลกรัม ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราทราบอุปสงค์ของนาย ก. และนาย ข. ณ ระดับราคาอื่นๆ เราก็สามารถหาอุปสงค์ของตลาด ณ ระดับราคาต่างๆ กันได้ ดังแสดงในช่องสุดท้ายของตาราง
เราอาจแสดงการหาอุปสงค์ของตลาดจากอุปสงค์ของแต่ละบุคคลโดยรูปได้ดังนี้

รูปที่ 1.2
อุปสงค์ของ นาย ก. นาย ข. และอุปสงค์ของตลาดเนื้อหมู ใน 1 สัปดาห์



ปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์
       ปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์ของสินค้านอกจากราคาของสินค้าแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก ดังนี้
รายได้ของผู้บริโภค ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และปริมาณการเสนอซื้อสินค้าขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า ในกรณีสินค้าปกติ (Normal Goods) และสินค้าฟุ่มเฟือย (Superior Goods) รายได้และปริมาณการเสนอซื้อสินค้าของผู้บริโภคจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน ส่วนในสินค้าด้อยคุณภาพ (Inferior Goods) รายได้และปริมาณการเสนอซื้อสินค้าของผู้บริโภคจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม
ระดับราคาสินค้าชนิดอื่น ปริมาณการเสนอซื้อสินค้าถูกกำหนดโดยราคาสินค้าชนิดอื่นด้วย เนื่องจากสินค้าที่ซื้อขายในตลาดมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ สินค้าบางชนิดสามารถใช้แทน กันได้ (Substitute goods) หรือสินค้าบางชนิดต้องใช้ร่วมกัน (complementary goods) ดังนั้น การที่ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งปริมาณเท่าใดต้องพิจารณาถึงราคาของสินค้าชนิดอื่นที่สัมพันธ์กันด้วย
รสนิยมของผู้บริโภค รสนิยมของบุคคลโดยทั่วไปจะแตกต่างกันไปตาม อายุ อาชีพ ขนบธรรมเนียมประเพณี ระดับการศึกษา และบุคลิกส่วนตัว นอกจากนี้ยังเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ยุคสมัย นอกจากนี้ความนิยมในแต่ละสินค้ายังเปลี่ยนแปลงได้เร็วช้าแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสินค้าที่พิจารณา
การคาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคต การคาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคตเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุปสงค์ของสินค้าเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับการคาดคะเนของผู้บริโภคแต่ละคน
ขนาดและโครงสร้างของประชากร โดยปกติถ้าจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอุปสงค์ของสินค้าแทบทุกชนิดย่อมเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างประชากรด้วย ลักษณะโครงสร้างประชากรมีผลให้อุปสงค์ของสินค้าบางชนิดเพิ่มขึ้นและบางชนิดลดลง
ปัจจัยอื่นๆ การที่ผู้บริโภคจะมีอุปสงค์ต่อสินค้ายังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย เช่น อุปนิสัยในการใช้จ่าย ลักษณะการจัดเก็บภาษีของรัฐ อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
ราคาของสินค้า

การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์
     การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ 2 แบบคือ

1. การเปลี่ยนแปลงปริมาณของอุปสงค์ (Change in quantity demand) เป็นการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์ เนื่องจากราคาสินค้าชนิดนั้นเปลี่ยนแปลงไป ภายใต้ข้อสมมุติปัจจัยอื่นๆ ที่กำหนดอุปสงค์คงที่ การเปลี่ยนแปลงปริมาณของอุปสงค์ จะทำให้ปริมาณการเสนอซื้อเปลี่ยนแปลงอยู่บนเส้นอุปสงค์เส้นเดิม ถ้าพิจารณาจากกราฟ การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ ดังกล่าว จะเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการเคลื่อนไหวอยู่ภายในเส้นอุปสงค์เส้นเดิมจาก จุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง (ตามรูปจากจุด A ไปยัง จุดB)


2. การเปลี่ยนแปลงระดับอุปสงค์ (Change in demand) เป็นการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์เนื่องจากปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่ออุปสงค์ เช่น รายได้ ราคาสินค้าชนิดอื่นที่เกี่ยวข้อง เปลี่ยนแปลง ภายใต้ข้อสมมุติราคาสินค้าชนิดนั้นคงที่ และส่งผล ให้เส้นอุปสงค์เกิดการเคลื่อนย้ายไปจากเส้นเดิม ถ้าผลการเปลี่ยนแปลงทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นเส้นจะเลื่อนระดับไปด้านขวามือของเส้นเดิม และ ถ้ามีผลให้อุปสงค์ลดลงเส้นจะเลื่อนระดับไปทางซ้ายมือของเส้นเดิม ถ้าพิจารณาจากกราฟ การเปลี่ยนแปลงอุปสงค์ดังกล่าว จะเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการเคลื่อนย้ายเส้นอุปสงค์ไปทั้งเส้น จากเส้นเดิมไปสู่เส้นใหม่ โดยถ้าเส้นอุปสงค์เคลื่อนย้ายไปทางขวา ของเส้นเดิมแสดงว่าอุปสงค์เพิ่มขึ้น ถ้าเคลื่อนย้ายไปทางซ้ายแสดงว่าอุปสงค์ลดลง